การตรวจร่างกายประจำปี ปีละ 1 ครั้ง เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มวัยคนทำงาน และกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ 18 – 60 ปีขึ้นไป เพื่อเฝ้าระวังโรคร้ายต่างๆ ที่อาจซ่อนอยู่ในร่างกายของเรา เพราะบางโรคก็อาจไม่แสดงอาการให้เรารับรู้ในช่วงแรกๆ แต่กลับมีการลุกลาม และก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้อย่างน่าตกใจ
ตรวจร่างกายประจำปี ควรตรวจอะไรบ้าง ?
ช่วงอายุต่ำกว่า 18 ปี (วัยเด็ก)
วัยเด็กเป็นช่วงอายุที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต หลักๆ แล้วแพทย์จะตรวจพัฒนาการ น้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เพื่อประเมินว่ามีความเสี่ยงภาวะอ้วนผอมหรือไม่, ฉีดวัคซีนตามช่วงอายุ, ให้คำแนะนำภาวะโภชนาการที่เหมาะสม และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ช่วงอายุ 18-40 ปี (วัยทำงาน)
เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน จะเป็นวัยที่เริ่มมีความเสี่ยงสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากมีความเครียดสูงกว่าวัยอื่นๆ สิ่งที่ควรตรวจคือ ตรวจร่างกายทั่วไปทั้งน้ำหนัก, ส่วนสูง, ค่าดัชนีมวลกาย (BMI), ความดันโลหิต, ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด, ระดับน้ำตาลในเลือด, ระดับไขมัน, ปัสสาวะ, การทำงานของไต และการทำงานของตับ
ช่วงอายุ 40-60 ปี (วัยทำงาน)
ช่วงวัยนี้ต้องดูแลสุขภาพอย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากร่างกายเริ่มเสื่อมโทรม สิ่งที่ควรตรวจเพิ่มเติมคือ ตรวจหากรดยูริคในเลือด, คลื่นไฟฟ้าหัวใจ, สายตา, ความผิดปกติเกี่ยวกับตา, อุจจาระ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจเบาหวานทุก 3 ปี
ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป (วัยผู้สูงอายุ)
เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จะเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มถดถอย เนื่องจากบางคนเริ่มมีปัญหาสุขภาพประจำตัวแล้ว นอกจากการตรวจแบบเดียวกับช่วงอายุ 18-40 ปี สิ่งที่ควรตรวจเพิ่มคือ ตรวจตาทุก 1-4 ปี, ทดสอบการได้ยินทุก 1-2 ปี, ตรวจสุขภาพช่องปากทุกปี, ตรวจอุจจาระทุกปี, ตรวจเบาหวานทุกปี, ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี, ตรวจหาภาวะซีดทุกปี (โดยเฉพาะเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป), ตรวจภาวะโรคสมองเสื่อม, ตรวจกระดูกและมวลกระดูก (ในผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป)
*การตรวจร่างกายประจำปีสำหรับผู้หญิง
– เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป และเคยมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจมะเร็งปากมดลูก เพื่อหาเชื้อ HPV
– เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
*การตรวจร่างกายประจำปีสำหรับผู้ชาย
– เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากปีละ 1 ครั้ง
ก่อนตรวจร่างกายประจำปี ควรเตรียมตัวอย่างไร ?
- นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อความแม่นยำของระดับความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
- งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง (จิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
- เลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน อย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลในปัสสาวะสูงกว่าปกติ ทำให้ไม่ตรงกับสภาพโดยรวมของทุกวัน
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง และงดสูบบุหรี่ก่อนตรวจสุขภาพ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่พับแขนได้สะดวก ไม่รัดแน่น เพื่อสะดวกในการเจาะเลือด
- สำหรับผู้ที่ต้องการหาความเสี่ยงเฉพาะโรค ควรปรึกษาศูนย์ตรวจสุขภาพก่อน เพื่อรับทราบเงื่อนไขการเตรียมตัวอย่างครบถ้วนก่อนรับการตรวจ
ข้อควรระวังก่อนตรวจร่างกายประจำปี
– สุภาพสตรีไม่ควรตรวจร่างกายประจำปีในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือหลังมีประจำเดือน 7 วัน เพราะอาจมีเลือดปนเปื้อนในปัสสาวะ มีผลต่อการแปลผลตรวจได้
– สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว สามารถทานยาได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และในวันตรวจร่างกายประจำปี ควรแจ้งประวัติสุขภาพ รวมถึงนำยาที่ทานประจำมาให้แพทย์ดูด้วย
– หากโปรแกรมตรวจร่างกายประจำปีมีการตรวจปัสสาวะ ควรปัสสาวะทิ้งเล็กน้อยก่อน แล้วจึงเก็บปัสสาวะตรงช่วงกลางตามปริมาณที่กำหนด
รองรับความเสี่ยงสุขภาพไปกับ ‘ประกันสุขภาพ’ จากแรบบิท แคร์ ที่ไม่เพียงแค่คุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนของการตรวจร่างกายประจำปีเท่านั้น แต่ยังช่วยเติมเต็มการดูแลสุขภาพของคุณในยามที่เจ็บป่วย และช่วยคลายความกังวลเรื่องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรักษา เปรียบเทียบแผนที่ใช่ได้อย่างตอบโจทย์คุณที่สุดจาก 30 บริษัทประกันภัยชั้นนำ พร้อมเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง